การพัฒนาเครื่องมือ (TOOLS) และกระบวนการทำงาน (PROCESS) แบบ SUBIM (SketchUp BIM) ในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำงานด้วยระบบสามมิติ

ผมมีชื่อว่า สุธิพงษ์ สงกรานต์ หรือรู้จักกันใน Social Network ว่า “ อาจารย์ป้อม บ้าน SketchUp “ ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หลังจากเรียนจบปริญญาโท ผมก็เริ่มต้นการทำงานกับบริษัท พรีเมียร์เอ็นเนอร์จี จำกัด ในฐานะวิศวกรผู้บุกเบิกคนแรกขององค์กร ใช้ช่วงแรกผมทำหน้าที่เป็นวิศวกรโครงการแต่หลังจากทำงานหลายปี ผมก็ได้รับตำแหน่งผู้จัดการแผนกออกแบบและขายงาน (บริษัทไม่ใหญ่มาก วิศวกรอาจจะทำหน้าที่ได้หลายอย่าง)

งานที่ผมทำคือ การออกแบบและก่อสร้างระบบผลิตแก๊ซชีวภาพขนาดใหญ่ (Biogas System) หลักการทำงานง่ายๆ คือ สร้างระบบอะไรบางอย่างขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้กลายเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อนำกลับไปใช้ในโรงงาน เชื่อหรือไม่? บางครั้งน้ำเสียที่ไร้ค่าเมื่อถูกจัดการดีๆ ในบางโรงงานจะมีมูลค่ามากกว่า 300,000 บาทต่อวันเลยทีเดียวครับ

ภาพบรรยากาศการทำงานของผมในปี 2012 ในตอนนั้นเป็นผู้จัดการแผนกออกแบบและขายโครงการ ผมค่อนข้างอินดี๊ ชอบพัฒนาสิ่งใหม่ให้กับองค์กร
ภาพทีมงานคนรุ่นใหม่ขององค์กรในช่วงปี 2012-2014
ภาพตัวอย่างระบบ Biogas ที่ผมเป็นผู้ออกแบบและให้คำปรึกษาด้านงานก่อสร้างและเดินระบบ

ในระหว่างปี 2012 หลังจากที่ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูและด้านการออกแบบและขายงาน ผมพบว่า กระบวนการ วิธีการ และขั้นตอนในการทำงานก่อสร้างขององค์กร มีปัญหาหลายจุดที่ต้องปรับปรุงและแก้ไข ปัญหาแรกที่ผมเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ “ แบบก่อสร้าง 2D “

เนื่องจากงานก่อสร้างระบบ Biogas มีความจำเพาะและซับซ้อนกว่าการสร้างบ้านมาก อีกทั้งทีมงานที่ร่วมก่อสร้างส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้จบการศึกษามาทางด้านนี้โดยตรง ส่วนมากจนถึงเกือบทั้งหมด ไม่สามารถทำความเข้าใจกับแบบ AutoCad 2D ที่ซับซ้อนได้ ดูเหมือนว่าการเขียนแบบก่อสร้างตามรูปแบบมาตรฐานอย่างละเอียด ไม่ได้ช่วยให้ทีมงานของเราทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเลย และในชั่วโมงนั้นเอง ผมต้องคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ ให้กับองค์กร

เนื่องจากโครงการของเรามีขนาดใหญ่ บางครั้งเรามีท่อที่ยาวรวมกันมากกว่า 10 กิโลเมตร การเขียนแบบและการสื่อสารด้วยระบบ 2D หรือสองมิติ ดูเหมือนจะไม่ทำให้งานของเรามีปัญหาน้อยลงเลย

ในช่วงเดือน ตุลาคม ปี 2011 ผมได้เริ่มทดลองฝึกการใช้โปรแกรม Google SketchUp โปรแกรมเด็กเล่นที่ทุกคนมักจะคอยตอกย้ำว่ามันไม่สามารถนำมาใช้ในงานวิศวกรรมแบบมืออาชีพได้แน่นอน ผมใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการพัฒนาทักษะของตัวเอง โดยศึกษาจากคลิปวีดีโอสอนของฝรั่งมังค่าเป็นหลัก (คลิปสอนของคนไทยส่วนใหญ่ในตอนนั้นจะเน้นไปที่การสร้างบ้านแบบหยาบๆ แล้วสร้างภาพเสมือนจริงเท่านั้น) และในที่สุดผมก็ตัดสินใจทดลองใช้งานจริงกับโครงการแรก และผลตอบรับที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะช่างหน้างานที่เคยดูแบบไม่เป็น ก็เริ่มชอบภาพสามมิติ ยิ่งกว่านั้น ผู้บริหารและนักลงทุน รวมถึงลูกค้าให้ความสนใจเทคโนโลยีสามมิติมากกว่าโปรแกรมสองมิติแบบเดิมๆ

เราเริ่มสร้างทีมงานสามมิติขึ้นมา จากนั้นเราก็เริ่มต่อยอดการทำงานไปสู่ระบบ INFORMATION โดยการบันทึกข้อมูลลงบนโปรแกรม SketchUp เพื่อนำไปใช้ในการ ถอดปริมาณวัสดุ (Quantity Takeoff) การประเมินราคาโครงการก่อสร้าง (Cost Estimation) การบริหารและจัดการงานก่อสร้าง (Construction Management) และการดูและระบบหลังส่งมอบโครงการ (O&M)

ภาพตัวอย่างงานการใช้ SketchUp ในการทำงานของผม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ
ภาพตัวอย่างโครงการก่อสร้างระบบ Biogas บนโปรแกรม SketchUp

ภาพตัวอย่างงานดินบนภูเขาที่เราใช้ SketchUp ออกแบบและคำนวณปริมาตรดินขุดและดินถมอย่างแม่นยำ

เปรียบเทียบภาพหน้างานกับภาพสามมิติที่คนงานชอบดูมากกว่าภาพ 2D AutoCad
ตัวอย่างการสร้าง Animation เพื่อให้คนงานเข้าใจขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน
ตัวอย่างการใช้ SketchUp ในงาน Safety ร่วมถึงการวิเคราะห์การออกแบบระบบท่อและปั๊ม
ตัวอย่างงานเขียนแบบก่อสร้างด้วยโปรแกรม SketchUp LayOut ที่สามารถนำมาใช้แทน AutoCad 2D ได้ โดยในปี 2015 ทีมงานของผมได้ยกเลิกการใช้งาน AutoCad 2D 100% แล้วเปลี่ยนมาใช้โปรแกรม SketchUp LayOut ในการเขียนแบบเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้าง
ตัวอย่างแบบก่อสร้างสามมิติและสองมิติของเรา โดยผู้รับเหมาและวิศวกรที่ร่วมงานกับเราคิดว่าสร้างด้วย AutoCad 2D

จุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำงานแบบ SUBIM

ในปี 2015 ผมได้ตัดสินใจลาออกจากองค์กรที่ผมรัก เพื่อที่จะออกมาทำตามความฝันของตัว ในช่วงแรกผมได้สร้างเพจ Facebook ที่ชื่อว่า บ้าน Sketchup ขึ้นมา (ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 190,000 คน) จากนั้นก็ได้รวบรวมทีมงานที่รักสิ่งเดียวกันเข้ามาร่วมกันทำงานและก่อสร้างตั้งเป็น บริษัท บ้านสเกตช์อัพ จำกัด ในปี 2015

ผมตื่นแต่เช้าทุกๆ วัน ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อทำคลิปวีดีโอสอนการใช้งานโปรแกรม SketchUp ที่ถูกต้องให้กับคนไทยและผู้คนในวงการก่อสร้างทุกคนแบบฟรีๆ และด้วยการสนับสนุนจากทุกคนที่ติดตามผลงานของ ผมจึงได้รับเงินตอบแทนจากทุกคนๆ ผ่านสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบันองค์กรของเราได้เติบโตเป็นบริษัทอบรมการใช้งานโปรแกรม SketchUp อันดับต้นๆ ของประเทศไทย

สำนักงานของเราตั้งอยู่ภายใน SKETCHUP BASECAMP อำเภอปากช่อง ห่างจากประตูขึ้นเขาใหญ่ประมาณ 30 กิโลเมตร
สำนักงานใหม่ของเราที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ก็ใช้ระบบการทำงานแบบ SUBIM ทั้งหมด
ตลอด 8 ปี มีผู้คนมากกว่า 10,000 คน เข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ของเรา
ในฐานะผู้ก่อตั้งแนวคิด SketchUp BIM ผมให้ความสำคัญกับการสอนเหนังสือในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาก น้อยครั้งที่ผมจะปฎิเสธคคำเชิญไปเป็นอาจารยร์พิเศษ ถ้าไม่ติดธุระสำคัญจริงๆ

ในช่วงปี 2019 เราได้เปิดแผนกพัฒนาโปรแกรมขึ้นมา เพื่อพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ให้กับวงการก่อสร้างไทย โดยเราแบ่งลักษณะการทำงานเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกเรียกว่า B2B โดยเราจะส่งทีมงานเข้าไปพัฒนาโปรแกรมเพื่อตอบโจทษ์การทำงานขององค์กรก่อสร้างต่างๆ และแบบ B2C ที่เป็นการพัฒนาโปรแกรมจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป

ตัวอย่างงานพัฒนา Extension BIM ให้กับบริษัท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เรามีลูกค้าที่สำคัญอีกจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีแพค และ เอสซีจี ไฮม์ (SCG HEIM) เป็นต้น

ในปี 2020 เราได้พัฒนาเครื่องมือเสริม (Extension) SUBIM ตัวแรกของคนไทยขึ้นมา โดยปัจจุบันมีนักเรียนที่ลงทะเบียนเข้าใข้งานมากกว่า 1,500 คน โดยเราได้แจกจ่ายให้กับสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้นำไปใช้สอนนักศึกษาแบบฟรีๆ อีกด้วย

SUBIM TOOL เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับการทำงานของทุกคนที่ใช้โปรแกรม SketchUp ให้สามารถทำงานได้ใกล้เคียงโปรแกรม Revit และ Archicad แต่ในรูปแบบที่ง่ายกว่า สนุกกว่า และที่สำคัญประหยัดมากกว่า เราหวังว่าวันหนึ่งในอนาคต เครื่องมือที่ราคาไม่แพงตัวนี้จะมีความสามารถในการทำงานระดับสูง ยกระดับการทำงาน BIM ในประเทศไทย โดยเฉพาะองค์กรออกแบบและก่อสร้างที่มีต้นทุนในการซื้อ Software ที่จำกัด

ตัวอย่างผลงานของนักเรียนที่เรียนรู้ SUBIM กับเรา โดยทุกคนจะสามารถสร้างโมเดลสามมิติที่สามารถแจกแจงวัสดุได้อย่างละเอียดอีกทั้งยังสามารถคิดราคางานก่อสร้างได้แบบ Real Time ในรูปแบบ BOQ มาตรฐาน
ตัวอย่างผลงาน SUBIM ของคนไทยในงานขนาดเล็ก
ตัวอย่างผลงาน SUBIM ของคนไทยในงานขนาดใหญ่
เราได้พัฒนาโปรแกรมสร้างานระบบท่อร่วมกับทีมงาน VBO จากประเทศเวียดนาม VBO PIPE เป็นหนึ่งในเครื่องมืองานระบบปั๊มและท่อที่ดีที่สุดในโลก (มีหลายโปรแกรมที่ใช้งานได้ดีในระดับเดียวกัน)
QRC เครื่องมือสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างรวดเร็วและสามารถนักความยาวหรือคิดน้ำหนักได้แบบ Real Time

ตัวอย่าง PRODUCT-CONNECT ในชุด SUBIM TOOL ทำหน้าที่เชื่อมต่อโมเดลสามมิติและข้อมูลสินค้าและบริการที่มีอยู่จริงให้กับคนไทยที่ใช้โปรแกรม SketchUp ในการทำงาน

นอกเหนือจากการพัฒนา SUBIM ให้กับองค์กรก่อสร้างไทยและบุคคลทั่วไป เรายังได้จับมือกับสถานศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาเครื่องมือ SUBIM ฟรีให้กับนักศึกษาไทยทุกคน